24 เมษายน 2561

แชร์ประสบการณ์พาหลาน(คนละนามสกุล)เที่ยวต่างประเทศโดยพ่อแม่เด็กไม่ได้ไปด้วย

*blog นี้เขียนลงพันทิปไว้ค่ะ >> https://pantip.com/topic/37593518
เดี๋ยวถ้ามีเวลาจะมาเขียนเรื่องการจัด Family Trip แบบมีทั้งผู้สูงอายุและเด็กน้อยอีกครั้ง (^o^)
==================

ขอเกริ่นก่อนนะคะ 

ทริปนี้เป็นทริปไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาค่ะ เที่ยวกันเอง ไม่ได้ไปกับทัวร์ เราเป็นคนจัดทริป จองที่พัก เตรียมข้อมูลและเอกสารทั้งหมดเองค่ะ


คราวนี้ ในส่วนของเอกสารคนอื่นๆในกรุ๊ปก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ เพราะโตๆกันหมดแล้ว การไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน มีแค่พาสปอร์ตก็โอเคแล้ว ไม่ได้ต้องขอวีซ่าอะไร 

จะวุ่นวายหน่อยก็มีแค่หลานเราคนเดียวซึ่งเป็นที่มาของกระทู้นี้

หลานเราอายุ 5 ขวบค่ะ ทริปนี้พ่อแม่ของหลานเราไม่ได้เดินทางไปด้วยเพราะติดงาน แล้วที่สำคัญคือหลานเราดันคนละนามสกุลกับเราและคนทั้งกรุ๊ปอีกต่างหาก เลยต้องหาข้อมูลเยอะหน่อย


ที่อยากมาแชร์ในครั้งนี้ เพราะก่อนไป เราได้หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและพันทิปแล้ว มันดูง่ายมากๆ แต่ที่เราเจอมามันไม่ใช่เลยค่ะ ขนาดเราว่าเราเตรียมตัวมาดีแล้ว ยังเกือบไม่ผ่าน ตม. ค่ะ


ถ้าลองค้นกระทู้พันทิปดู จะเห็นเลยว่าบางคนบอกว่าไม่ต้องเตรียมอะไรเลยก็สามารถไปได้ ผ่านได้ปกติ ตม. ไม่ขอดูอะไรเลย แต่ส่วนใหญ่ก็จะบอกให้เตรียมหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศที่ออกโดยเขตหรืออำเภอไปด้วย

==================


ก่อนไปนอกจากหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตแล้ว เราก็ได้โทรเช็คกับหน่วยงานภาครัฐหลายๆแห่งเพื่อความแน่นอนอีกครั้ง เพราะเข้าใจดีว่าการพาเด็กไปต่างประเทศโดยที่พ่อแม่เด็กไม่ได้เดินทางไปด้วย มันจะต้องมีเอกสารมากกว่าปกติอยู่แล้ว ไม่งั้นคงลักพาตัวเด็กหรือขายเด็กข้ามประเทศกันสนุกสนาน

เอกสารสำคัญที่ทั้งศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ 1111 และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ให้ไปทำก็คือ "หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศ" โดยให้พ่อและแม่เด็กไปขอที่เขต (กรณีอยู่ในกรุงเทพ) หรือที่ว่าการอำเภอ (กรณีอยู่ต่างจังหวัด)


ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ หลังจากพ่อแม่ของหลานเราไปทำพาสปอร์ตให้หลานเสร็จ วันเดียวกันก็ไปที่อำเภอต่อทันที หลังจากเล่าเรื่องให้อำเภอฟัง ทางอำเภอก็ออกหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศมา มีเจ้าหน้าที่รับรองถูกต้องเรียบร้อย


เนื้อหาของหนังสือยินยอมฯที่อำเภอออกให้ค่ะ เป็นแบบนี้เลย 

credit: search from google


คราวนี้พอเราได้มาอ่านตัวหนังสือยินยอมฯแล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ข้อความมันกว้างมาก ไม่ได้มีการระบุเลยว่ายินยอมให้เดินทางไปประเทศอะไร เมื่อใด และที่สำคัญคือให้อยู่ในความดูแลของใคร

เราเลยโทรเช็คกับทางกรมการกงสุลอีกครั้ง ซึ่งทางกรมการกงสุลก็บอกว่าเนื้อหาดังกล่าวถูกต้องแล้ว เป็นฟอร์มของทางรัฐ และแนะนำให้เราแปลเอกสารนี้เป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเผื่อ ตม. ประเทศปลายทางจะขอดู

ตอนแรกเราก็เลยตั้งใจจะแปลเป็นภาษาอังกฤษและให้ทางกรมการกงสุลรับรอง แต่เนื่องจากขั้นตอนในการขอรับรองเอกสารของกรมการกงสุลนั้นค่อนข้างยากลำบาก(มาก) เพราะเราไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ครั้นจะขอข้อมูลเกี่ยวกับการให้รับรองทางไปรษณีย์เพิ่มเติมก็ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เลย


ที่สุด เราเลยตัดสินใจโทรไปที่สถานทูตญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศปลายทางในครั้งนี้ว่า ทาง ตม. ขาเข้าประเทศญี่ปุ่นต้องดูเอกสารตัวนี้ด้วยหรือไม่

ทางเจ้าหน้าที่ของสถานทูตญี่ปุ่นได้ชี้แจงว่าจริงๆแล้ว ทางญี่ปุ่นไม่ได้มีข้อกำหนดในการเข้าประเทศว่าเด็กต้องเดินทางกับพ่อแม่หรือคนนามสกุลเดียวกันเท่านั้น และไม่ได้ต้องการเอกสารอะไรเพิ่มเป็นพิเศษ แต่จะดูจากพฤติกรรมมากกว่า ข้อสำคัญคือขอให้สามารถอธิบายหรือตอบคำถามได้ในกรณีที่มีการสอบถามเพิ่มเติมก็พอ
เราเลยตัดสินใจตัดปัญหา ไม่ได้แปลตัวหนังสือยินยอมฯเป็นภาษาอังกฤษค่ะ 

อีกหน่วยงานของรัฐที่เราได้โทรไปเช็คก็คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ค่ะ เพราะหน้าด่านขาออก เจ้าหน้าที่ที่เราต้องเจอด้วยจริงๆ คือคนนี้
แต่พอโทรไปที่เบอร์กลาง เบอร์กลางได้ให้เบอร์มาอีกเบอร์หนึ่งให้เราสอบถาม แต่พอเราโทรไปตามเบอร์ที่ได้มา ปรากฏว่าไม่มีคนรับสายเลย รอสายอยู่นานมากๆ ที่สุดเลยวางสาย ไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่

และที่สุดท้ายที่เราได้โทรไปเช็คคือ สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินที่เราจะใช้บริการในครั้งนี้ เนื่องจากอ่านเจอว่าบางคนมีปัญหาตั้งแต่ตอนเช็คอินกับสายการบิน

ทาง call center ของแอร์เอเชีย ได้อธิบายกับเราว่ากรณีเด็กอายุไม่ถึง 12 ปีจะต้องเดินทางกับผู้ใหญ่ใน booking เดียวกัน ...ซึ่งตรงนี้ ไม่มีปัญหาค่ะ ที่จองไว้เป็น booking เดียวกันอยู่แล้ว


เราได้ถามกับทาง call center ว่าตอนนี้เรามีพาสปอร์ตของเด็กและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศที่ออกโดยอำเภอเรียบร้อย แต่หนังสือยินยอมฯนี้ ไม่ได้มีข้อความว่าให้ไปที่ไหน เมื่อไหร่ กับใคร อันนี้คือใช้ได้แล้วใช่มั้ย หรือต้องเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มหรือไม่


ถึงตรงนี้ call center บอกให้เรารอสายแล้วหายไปพักหนึ่งค่ะ 

พอกลับมาพนักงานได้แจ้งให้เราเตรียมเอกสารเพิ่ม คือ สำเนาบัตรประชาชนของพ่อและแม่เด็ก และให้พ่อและแม่เด็กเขียนข้อความรับรองว่ายินยอมให้เด็กอยู่ในการดูแลของใคร เดินทางไปประเทศใด ระหว่างวันที่เท่าไหร่ พร้อมทั้งเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

เราก็เลยได้เตรียมเอกสารเพิ่มตามที่ call center บอก (ซึ่งนี่เป็นเอกสารที่ช่วยชีวิตเราไว้ค่ะ)

พร้อมเตรียมสำเนาสูติบัตรและใบเปลี่ยนชื่อพิ่มด้วย เพื่อเป็นเอกสารยืนยันว่าบุคคลตามสำเนาบัตรประชาชนนั้นเป็นพ่อแม่ของเด็กจริง (ที่ต้องมีใบเปลี่ยนชื่อด้วย เนื่องจากแม่เด็กมีการเปลี่ยนชื่อครั้งนึง ทำให้ชื่อในสูติบัตรไม่ตรงกับสำเนาบัตรประชาชนปัจจุบันค่ะ)

รวมทั้งบอกให้พ่อแม่เด็กเตรียมรับโทรศัพท์ในวันเดินทางด้วย เพราะอ่านเจอหลายเคสที่ ตม. ขอให้โทรหาพ่อแม่เด็ก


==================


วันเดินทาง


ที่เคาน์เตอร์แอร์เอเชีย ตรวจดูเฉพาะพาสปอร์ตอย่างเดียว ไม่ได้มีการขอดูเอกสารใดๆเพิ่มเติมเลยค่ะ ตรงนี้ผ่านได้สบาย ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ


จะมีปัญหาก็ที่ ตม. นี่แหละ


ที่ ตม. เราได้ยื่นเอกสารคือพาสปอร์ตของหลานกับหนังสือยินยอมฯที่เตรียมมาให้เจ้าหน้าที่

เจ้าหน้าที่อ่านแค่แวบเดียวแล้วส่งหนังสือยินยอมฯคืนให้เราค่ะ บอกว่าเป็นหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับทาง ตม. 

ถึงตรงนี้ งงเลยค่ะ 

ถามมา (น่าจะ) ทุกหน่วยงานบอกให้ใช้หนังสือตัวนี้ (ยกเว้นไม่ได้ถาม ตม. เพราะติดต่อไม่ได้นี่แหละ) 

แต่เนื่องจากเรามีเอกสารเพิ่มเติมที่เตรียมไว้ให้แอร์เอเชียอยู่ เราเลยส่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งปึกเลย


หลังจากเจ้าหน้าที่ได้อ่านแล้ว (นานมากกกกกก) ก็มีสัมภาษณ์อีกนิดหน่อยว่าคนที่สำเนาบัตรประชาชนพ่อแม่เด็กระบุให้เป็นคนดูแลเด็กเป็นอะไรกับเด็ก และให้ถ่ายรูปพร้อมกับเด็กด้วย

สุดท้ายก็ปั๊มยอมให้หลานเราผ่านไปได้ค่ะ
โดยก่อนผ่านไป เจ้าหน้าที่ได้บอกด้วยว่าดีนะที่เตรียมเอกสารนี้มา ถ้าไม่มี ไม่ให้ผ่านแล้ว 

(T^T) ฮือๆ โชคดีจริงๆค่ะ 

นี่ขนาดเราว่าเราเตรียมตัวมาดีแล้ว โทรเช็คกับหน่วยงานหลายแห่งแล้วนะคะ หลานยังเกือบไม่ได้เที่ยวเลย

เรื่องนี้ได้ข้อสรุปว่า ถ้าต้องพาหลานไปต่างประเทศอีกเตรียมไปเถอะค่ะ เอกสารมีอะไรเตรียมไปให้หมด คนอื่นอาจไม่ต้องใช้ แต่เราอาจต้องใช้ค่ะ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ล้วนๆเลย

อันนี้ ไม่ได้ตำหนิเจ้าหน้าที่หรืออะไรนะคะ เพราะส่วนตัวเราก็คิดว่าตัวหนังสือยินยอมฯที่อำเภอออกมาให้เนื้อหามันกว้างไปจริงๆ ดีที่เราเอะใจและแอร์เอเชียก็แนะนำให้เตรียมเพิ่ม ไม่งั้นคงยุ่งกว่านี้ (แค่นี้ก็สงสารคนที่ต่อแถว ตม. แถวเดียวกับเราแล้วค่ะ เพราะใช้เวลานานจริงๆ T^T) เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังค่ะ

==================

ส่วนที่ ตม. ขาเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้น ไม่ถามอะไรเลยค่ะ ปั๊มผ่านมาเฉยๆเลยค่ะ

==================

**เพิ่มเติม หลังจากได้อ่านความเห็นของหลายๆท่านใน pantip เราพอจะสรุปได้ว่า เป็นอย่างที่คิดค่ะ ปัญหาคือข้อความของหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศที่ทางอำเภอออกให้ เพราะหลายๆท่านที่เคยทำหนังสือตัวนี้แล้วออกจากสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ จะมีข้อความเพิ่มเติมตอนท้ายว่าให้เด็กอยู่ในความดูแลของใคร ซึ่งคิดว่านี่คือประเด็นสำคัญที่ ตม. จะดู 
ตัวอย่าง >> https://pantip.com/topic/37593518/comment21

ดังนั้น เวลาไปขอหนังสือยินยอมฯ ควรต้องขอให้ทางอำเภอ/สำนักงานเขต เพิ่มเติมข้อความประมาณนี้เข้าไปด้วยค่ะ 


20 เมษายน 2561

ไปญี่ปุ่น...ใช้ INTERNET Sim ค่ายไหนดี? (AIS Sim2Fly/ Dtac Go inter/ True Travel sim)

การใช้งานอินเตอร์เน็ตในทริปญี่ปุ่นก่อนๆหน้านี้ เราจะใช้เป็น pocket wifi ซะส่วนใหญ่ 
แต่ pocket wifi มีข้อเสียคือต้องแบกตัวปล่อยสัญญาณ wifi อีกเครื่องหนึ่ง ทำให้กระเป๋าหนักขึ้น (จากที่ก็หนักมากอยู่แล้ว) และผู้ร่วมทริปจะต้องอยู่ด้วยกันถึงจะเล่นได้ ถ้าแยกกันไปคือจบเลย เลยไม่สะดวกเท่าไหร่นัก

พอมาตอนนี้ค่ายมือถือในไทยออกตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าออกมาอย่าง internet sim เพื่อไปใช้งานต่างประเทศ เราก็ต้องลองค่ะ 
ไม่ต้องรับภาระอุปกรณ์เพิ่ม เล่นอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลาแบบของใครของมัน แยกกันไปได้ และที่สำคัญราคาไม่แพง จัดไปอย่าให้เสียค่าาา


ตอนนี้ทั้ง 3 ค่ายมือถือใหญ่ในไทย ทุกค่ายก็ออก Internet sim มาแล้วทั้ง 3 ค่ายเลย


AIS Sim2fly http://www.ais.co.th/roaming/sim2fly/




Dtac Go Inter https://www.dtac.co.th/gointer/



True Travel sim http://truemoveh.truecorp.co.th/international_service/travelling_abroad

ในที่นี้ เราจะขอพูดถึงการใช้งานที่ "ประเทศญี่ปุ่น" เท่านั้นนะคะ

ประเทศอื่นๆ ลองเช็คดูอีกทีว่าค่ายไหนรองรับบ้างและในแพ็คเกจราคาเท่าไหร่

สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น ใน 3 ค่ายนี้ ให้ตัด true travel sim ออกก่อนเลยเป็นอันแรกค่ะ เนื่องจากตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ทรูมีการปรับแพ็คเกจของประเทศญี่ปุ่นจาก Travel sim Asia 399 บาท ไปเป็น Travel sim world 899 บาท ทำให้แพงกว่าค่ายอีก 2 ค่ายอย่างชัดเจน


*** dtac Go Inter เองก่อนหน้านี้ ช่วงประมาณเดือนธันวาคม 2560 ก็ได้ประกาศว่าไม่สามารถใช้งานญี่ปุ่นได้เช่นเดียวกับ true (เดาว่าน่าจะเกี่ยวกับข้อตกลงของทางค่าย NTT Docomo ที่ญี่ปุ่น เพราะเดิมทั้ง true และ dtac จับสัญญาณค่ายนี้ทั้งคู่ค่ะ) แต่ล่าสุดเมษายน 2561 dtac กลับมาใช้งานที่ญี่ปุ่นได้แล้ว โดยจับสัญญาณกับทาง Softbank เช่นเดียวกับ AIS


อัพเดท กันยายน 2561 dtac go inter กลับมาจับสัญญาณของ NTT Docomo แล้วค่ะ

ส่วนระหว่าง AIS sim2fly กับ dtac go inter เงื่อนไขหลักๆ ตอนนี้ยังกับลอกกันมา แต่จุดตัดสำคัญน่าจะอยู่ที่จำนวนวันที่ต้องการใช้งานค่ะ


❈ แพ็คเกจการใช้งานงานอินเตอร์เน็ตทั้งสองค่ายเป็นแบบ non-stop 4GB หลังครบ 4 GB จะปรับความเร็วลงเป็น 128 Kbps เหมือนกันเป๊ะ


 ราคาเท่ากันเป๊ะๆ คือ 399 บาท

 จับสัญญาณ Softbank ทั้งสองค่าย
อัพเดท กันยายน 2561 
AIS Sim2fly จับสัญญาณของ Softbank
dtac go inter จับสัญญาณของ NTT Docomo 

 การนับระยะเวลาจะนับแบบ 24 ชั่วโมงเหมือนกันทั้งสองค่าย 

 จำนวนวัน
เริ่มต้น
AIS ใช้งานได้ที่ 8 วัน 
dtac ใช้งานได้ที่ 10 วัน

ถ้าเกินกว่านี้ ในส่วนของแพ็คเกจเสริม
AIS มีแพ็คเกจเสริม 2 แบบ คือ 
(1) แบบ 2 วัน 1 GB ราคา 119 บาท
(2) แบบ 8 วัน 4 GB ราคา 349 ลดเหลือ 299 บาท 
ส่วน dtac จะไม่มีแพ็คเกจเสริมค่ะ แต่มีคำแนะนำในหน้าเว็บว่า ถ้าไป 15 วัน ให้ซื้อไป 2 ซิม (อย่างนี้ก็ได้เหรอ?!?) 

ถ้าใครไปต่างประเทศบ่อยๆ ไม่อยากซื้อซิมทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ แนะนำ sim2fly เลยค่ะ เพราะสามารถเติมเงินเพื่อยืดอายุซิมได้ แล้วพอจะนำไปใช้งานในต่างประเทศอีกครั้งก็แค่สมัครแพ็คเกจเพิ่มเท่านั้นเอง


❈ การใช้งานโทรศัพท์

กรณีมีการใช้งานโทรศัพท์ด้วย ทั้งการรับสาย โทรกลับไทย โทรในญี่ปุ่น ค่าบริการของ AIS จะถูกกว่า dtac อย่างมีนัยสำคัญ (อัตราค่าโทรต่อนาที AIS อยู่ที่ 6 บาท dtac อยู่ที่ 26 บาทค่ะ)
เพราะฉะนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ด้วย ไป AIS เลยค่ะ 

***แต่ถ้าใครใช้เบอร์ไทยเป็นของ dtac แล้วต้องการใช้งานโทรศัพท์ เราจะมีทางเลือกอีกทางให้ โดยสามารถใช้งานเบอร์เดิมของเราได้เลย แม้ว่าโทรศัพท์จะไม่ได้ใส่ซิมเดิมของเราอยู่ก็ตาม 
>> http://pptalkative.blogspot.com/2018/06/dtac-call.html

❈ Call center ขณะอยู่ต่างประเทศ
dtac call center ขณะอยู่ต่างประเทศ โทรฟรี 24 ชั่วโมง เบอร์ +66 2-202-8100

ส่วน AIS เดิมไม่มีเบอร์ฟรีค่ะ เสียตังค์อย่างเดียว (ซึ่งมันไม่โอเคมาก คนบ่นกันเยอะมาก เพราะคนที่ต้องติดต่อ call center ในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็คือคนที่ไม่สามารถใช้งานซิมที่ซื้อไปได้ แล้วนอกจากซิมที่เสียเงินซื้อไปใช้งานไม่ได้แล้ว ยังต้องเสียเงินโทรหา call center เพื่อหาทางแก้ไขเองอีกต่างหาก)
แต่ล่าสุดสดๆร้อนๆ ฟรีแล้วค่าาาา ในที่สุดคำคอมเพลนก็ไปถึงหู AIS จนได้ 
AIS call center ขณะอยู่ต่างประเทศ เบอร์ +66 2-271-9000 
** เนื่องจากเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ในแพ็คเกจ Sim2Fly บางอันจะแจ้งว่ามีค่าบริการอยู่ แต่จริงๆคือโทรได้ฟรีแล้วค่ะ

 สถานที่ซื้อซิม
สามารถเช็คศูนย์บริการที่มีจำหน่ายได้จาก website ด้านบนเลยค่ะ

(เดิมของ AIS จะหาซื้อง่ายกว่าของ dtac ค่ะ แต่ปัจจุบัน หาซื้อได้ไม่ยากทั้งคู่แล้วค่ะ)

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ ถ้าเตรียมไปได้ก่อนก็เตรียมไปก่อนนะคะ อย่าไปหวังซื้อที่สนามบิน เพราะทริปฮ่องกงเมื่อปลายปีก่อนโน่น เราไปซื้อ sim2fly ของ AIS ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รอนานมากกกกกก คิวยาวมากทั้งคนไทยและต่างชาติ เข็ดเลยค่ะ

 อุปกรณ์เสริมอื่นๆ
ทั้งสองค่าย มีที่จิ้มซิมแถมมาให้ด้วยค่ะ สะดวกดี แต่ที่จิ้มซิมของฝั่ง dtac ดูคุณภาพดีกว่าของ AIS อยู่มาก (แต่ใช้งานได้ทั้งคู่ค่ะ ไม่ได้มีผลต่อการใช้งาน) 
เพิ่มเติมคือ dtac จะมีซองเล็กๆ สำหรับใส่ที่จิ้มซิมและใส่ซิมได้อีก 2 ช่องให้ด้วย ซึ่งชอบค่ะได้ใช้ประโยชน์จริง

อันนี้เป็นหน้าตาของ dtac go inter ที่ใช้ในทริปปลายปีที่แล้ว ตอนนั้นจะมีแถมซองซิปใสให้ด้วย แต่เข้าใจว่าตอนนี้ไม่มีแล้วค่ะ 

❈ ในส่วนของการใช้งานจริง เราเคยใช้งานทั้งของ dtac go inter (ตอนปลายปีที่แล้วที่ยังจับสัญญาณกับ NTT Docomo) และ AIS sim2fly (ล่าสุดคือเมษายนปีนี้) สามารถใช้งานได้ดีค่ะ ไม่ได้มีปัญหาอะไร มีช่วงรถไฟวิ่งเร็วๆหรือเข้าอุโมงค์ ขึ้น no service เป็นระยะท้ังสองค่ายค่ะ

[แต่เดิม ถ้าออกไปนอกเมืองมากๆ สัญญาณฝั่ง NTT Docomo เหนือกว่าฝั่ง Softbank อยู่นิดหน่อยค่ะ ไม่มีนัยสำคัญอะไร แต่เนื่องจากตอนนี้ทั้งสองค่ายมาจับสัญญาณ Softbank เหมือนกัน เรื่องนี้ก็ตกไปค่ะ]


สรุปว่า
ใครมีความจำเป็นต้องใช้งานโทรศัพท์ร่วมด้วย ไป AIS ค่ะ อัตราค่ารับสายและโทรออกของ sim2fly ถูกกว่าฝั่ง dtac do inter มาก 
ส่วนใครที่ไม่ได้ต้องการใช้งานโทรศัพท์จากตัว internet sim เช่น อาจไม่ต้องการใช้งานโทรศัพท์เลย หรือมีวิธีการอื่นในการใช้โทรศัพท์แทนที่จะโทรจากตัว internet sim ให้ดูจำนวนวันที่เดินทางท่องเที่ยวเป็นหลักค่ะ 
ถ้าไปไม่เกิน 8 วัน เลือกเอาได้ตามสะดวกเลยค่ะว่าอยากใช้ค่ายไหน
ถ้าไป 9-10 วัน ไป dtac ค่ะ 
ถ้าไปเกินจากนี้ ลองคำนวณเองกันอีกทีนะคะ เช่น ไป 15 วันอาจใช้เป็น sim2fly ร่วมกับแพ็คเกจเสริม 8 วัน แบบนี้จะถูกกว่าใช้ dtac go inter 2 ซิมค่ะ

กรณีเดินทางต่างประเทศเป็นประจำ แนะนำให้มี sim2fly เก็บไว้สักอัน แล้วคอยเติมเงินไม่ให้ซิมขาด พอจะใช้งานในต่างประเทศก็สามารถซื้อแพ็คเกจเสริมได้เลย ไม่ต้องเสียเงินค่าซิมใหม่ทุกครั้งค่ะ



Kansai-Hokuriku Trip 2017

ทริปนี้เป็นอีกทริปที่เกิดขึ้นแบบราบรื่นมาก ผู้ร่วมทริปแต่ละนางใจง่ายกันมาก พูดกันไม่กี่ประโยค จัดการจองตั๋วและวางแผนเสร็จในพริบตา (ความราบรื่นตอนวางแผนนี้ผิดกับตอนไปจริงลิบลับ ตอนไปจริง อุปสรรคเยอะมากกกกก เป็นการเที่ยวที่ตรากตรำที่สุดเท่าที่เคยไปญี่ปุ่นมา)

สำหรับทริปนี้ เรามีจุดหมายค่อนข้างชัดเจนว่าอยากไปเมือง Kanazawa ซึ่งเพื่อนร่วมทริปก็อยากไป Shirakawago อยู่เหมือนกัน เลยปักหมุดที่ 2 เมืองนี้เป็นแห่งแรก

การเดินทางไปสองเมืองนี้ จริงๆแล้วสนามบินที่ใกล้ที่สุดคือ สนามบินนาโกย่า 
แต่ทริปนี้ เราจองตั๋วโปรโมชั่นของสายการบิน ThaiAirAsia X ซึ่งมีไปลงแค่ที่สนามบินนาริตะ (โตเกียว) และสนามบินคันไซ (โอซาก้า) ทำให้ต้องเลือกระหว่างสองสนามบินนี้ 
และด้วยความที่เพื่อนร่วมทริปของเราเคยไปโซนคันโตมาแล้ว ครั้งนี้เลยขอรีเควสไปโซนคันไซบ้าง 
ประกอบกับพาสในการเดินทางของโซนนี้มักจะควบโซนคันไซมากกว่าทางคันโต เลยเลือกลงที่โอซาก้าค่ะ

ทริปนี้มีเวลาเที่ยวทั้งหมด 7 วันเต็ม

ขั้นต้นวางไว้ว่า Kanazawa 1-1 1/2 วัน
Shirakawaga 1/2 - 1 วัน

นอกนั้นรอความเห็นเพื่อนร่วมทริปคนอื่นๆ 
ซึ่งทุกคนก็ไปทำการบ้านกันมาว่าอยากไปไหน แล้วมาคุยกัน ปรับกันตามความเหมาะสมของเวลาอีกที
ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปประมาณนี้
Koyasan 1 วัน
Uji 1/2 วัน
USJ 1 วัน
Arashiyama
Fushimi Inari
Kaiyukan
Sumiyashi Taisha
Kifune / Ohara
สังเกตว่าเที่ยวในโอซาก้าน้อยมาก ออกนอกโอซาก้ากันตลอด

พอได้สถานที่ที่จะไปมาคร่าวๆแล้ว ก็มาเลือกพาสกันค่ะ


สำหรับพาสจาก Kansai ไปโซน Hokuriku ได้มีอยู่ 2 พาสที่น่าสนใจ คือ

(A) Takayama-Hokuriku Area Tourist Pass ราคา 14,000 เยน ใช้ได้ 5 วัน(ติดต่อกัน)
(B) Kansai-Hokuriku Area Pass (KHAP) ราคา 15,000 เยน ใช้ได้ 7 วัน(ติดต่อกัน)

ทั้ง 2 อัน เป็นพาสสำหรับใช้กับรถไฟของ JR สามารถใช้ครอบคลุม สนามบิน-โอซาก้า-เกียวโต เรื่อยไปจนถึงโซน Hokuriku (Kanazawa-Shirakawago)

ความแตกต่างของ 2 พาสนี้ นอกจากราคาและระยะเวลา คือ area ของพาส 


Takayama-Hokuriku Area Tourist Pass
Kansai-Hokuriku Area Pass

พาส (B) จะครอบคลุมโซน Kansai มากกว่า ไป Himeji Kobe Nara Wakayama Tottori ได้ ในขณะที่พาส (A) ใช้ได้แค่เส้นสนามบินเข้าโอซาก้า, loop line ในตัวเมืองโอซาก้า, แล้วก็จากโอซาก้ายาวไปทาง Kanazawa เลย จะใช้ในเมืองโตเกียว เช่น JR ไป Arashiyama หรือ Uji ไม่ได้เลย

แต่พาส (A) จะครอบคลุมทาง Takayama ด้วย ส่วนพาส (B) จะถึงแค่ Kanazawa ค่ะ ถ้าใครจะไปทาง Takayama ด้วย เลือกพาส (A) แบบไม่ต้องคิดเลยค่ะ

และพาส (A) จะครอบคลุม รถบัสไป-กลับระหว่าง Kanazawa-Shirakawago (ราคา 3700 เยน) ในขณะที่พาส (B) จะไม่ครอบคลุมในส่วนนี้

*** พาส (A) ต้องซื้อไปจากเมืองไทยและไปแลกพาสที่โน่น (ไม่มีขายที่ญี่ปุ่น) ส่วนพาส (B) มีขายที่ญี่ปุ่น แต่ควรจองจากเมืองไทยไปก่อนเช่นกัน เพราะจะได้ราคาถูกกว่าไปซื้อที่โน่นเลย

จากสถานที่ที่เราจะไป จริงๆ พอลองคำนวณค่าเดินทางแล้ว ต่างกันน้อยมาก
แต่สุดท้ายเลือกใช้ Takayama-Hokuriku Area Tourist Pass (พาส (A)) ร่วมกับ Kansai Thru Pass แบบ 2 วัน เพราะ Kansai Thur Pass ใช้งานได้ครอบคลุม Kifune กับ Koyasan แบบกินขาดฝั่ง JR มากๆ

สรุปแพลนที่เราจะไปกัน


Hotelby
sat28/10/2017BKK - KIXOsakaBus14.50 - 10.40
1sun29/10/2017Kyoto; Kifune -Higashiyama -NambaOsakaKTP 1
2mon30/10/2017KoyasanOsakaKTP 2
3tue31/10/2017USJOsaka Pass 1* Halloween
4wed01/11/2017Kyoto; Arashiyama -Fushimi Inari -Uji -KanazawaKanazawaPass 2
5thu02/11/2017Shirakawago-Kanazawa; 21th Century Museum -Higashi ChayaKanazawaPass 3
6fri03/11/2017Kanazawa; Ninjadera -Kenrokuen -Kanazawa CastleOsakaPass 4*วันวัฒนธรรม วันหยุดราชการ
7sat04/11/2017Osaka; Sumiyoshi Taisha -Kaiyukan -Osaka Castle -Rinku town outlet -KIXTAAXPass 5 +
Kaiyukan city plan
sun05/11/2017KIX - BKK00.10 - 04.00

สำหรับที่พักนั้น รอบนี้เราเลือกกันที่ย่าน Osaka (Umeda) เพราะเป็นจุดที่เป็นชุมทางของรถไฟทั้งของฝั่ง JR และเอกชน สามารถต่อรถไปเมืองอื่นได้ง่าย และมีรถบัสสนามบินไปถึงได้ (เผื่อขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้ายเข้าเมืองไม่ทัน)
โรงแรมที่เราจะพักที่โอซาก้าคือ โรงแรม Hotel Kinki 
ส่วนที่ Kanazawa คือโรงแรม HOTEL MYSTAYS Kanazawa Castle
ซึ่งเดี๋ยวถ้ามีเวลาจะมาทำ Review ทั้งสองโรงแรมอีกครั้งหนึ่งค่ะ 

สรุปข้อมูลคร่าวๆและค่าใช้จ่ายของทริปนี้

สมาชิกร่วมทริป : 4 คนถ้วน
วันที่เดินทาง : วันที่ 28 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2560 (เที่ยว 7 วันเต็ม) 
สถานที่ : Osaka, Kyoto, Koyasan, Kanazawa, Shirakawago
โดยสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ๊กซ์ TAAX (BKK - KIX (Osaka) - BKK)
ค่าใช้จ่าย : 38,xxx บาทต่อคน (ไม่รวม shopping)
แยกรายละเอียดได้ ดังนี้
> แอร์เอเชีย 9261 บาท           
     - ค่าตั๋วเครื่องบิน 7150 บาท          
     - adds-on 2111 บาท (น้ำหนักกระเป๋า ขาไป 15 kg ขากลับ 25 kg + อาหารขาไป)
> Internet sim 399 บาท (AIS sim2Fly / dtac go inter)
> ประกันภัยการเดินทาง 474 บาท (แถมบัตร Starbucks 150 บาท) ของ Cigna
> ค่าที่พัก 7 คืน 8868 บาท
> ค่าพาสและการเดินทางต่างๆประมาณ 7000 บาท
> ค่าตั๋ว USJ 2200 บาท
> ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ และค่าอาหาร ขนม ตลอดทริป รวมประมาณ 10,000 บาท 
(อัตราเงินเยนตอนที่แลกคือ 100 เยน = 30.56 บาท)