เดี๋ยวถ้ามีเวลาจะมาเขียนเรื่องการจัด Family Trip แบบมีทั้งผู้สูงอายุและเด็กน้อยอีกครั้ง (^o^)
==================
ขอเกริ่นก่อนนะคะ
ทริปนี้เป็นทริปไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาค่ะ เที่ยวกันเอง ไม่ได้ไปกับทัวร์ เราเป็นคนจัดทริป จองที่พัก เตรียมข้อมูลและเอกสารทั้งหมดเองค่ะ
คราวนี้ ในส่วนของเอกสารคนอื่นๆในกรุ๊ปก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ เพราะโตๆกันหมดแล้ว การไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่เกิน 15 วัน มีแค่พาสปอร์ตก็โอเคแล้ว ไม่ได้ต้องขอวีซ่าอะไร
จะวุ่นวายหน่อยก็มีแค่หลานเราคนเดียวซึ่งเป็นที่มาของกระทู้นี้
หลานเราอายุ 5 ขวบค่ะ ทริปนี้พ่อแม่ของหลานเราไม่ได้เดินทางไปด้วยเพราะติดงาน แล้วที่สำคัญคือหลานเราดันคนละนามสกุลกับเราและคนทั้งกรุ๊ปอีกต่างหาก เลยต้องหาข้อมูลเยอะหน่อย
ที่อยากมาแชร์ในครั้งนี้ เพราะก่อนไป เราได้หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและพันทิปแล้ว มันดูง่ายมากๆ แต่ที่เราเจอมามันไม่ใช่เลยค่ะ ขนาดเราว่าเราเตรียมตัวมาดีแล้ว ยังเกือบไม่ผ่าน ตม. ค่ะ
ถ้าลองค้นกระทู้พันทิปดู จะเห็นเลยว่าบางคนบอกว่าไม่ต้องเตรียมอะไรเลยก็สามารถไปได้ ผ่านได้ปกติ ตม. ไม่ขอดูอะไรเลย แต่ส่วนใหญ่ก็จะบอกให้เตรียมหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศที่ออกโดยเขตหรืออำเภอไปด้วย
==================
ก่อนไปนอกจากหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตแล้ว เราก็ได้โทรเช็คกับหน่วยงานภาครัฐหลายๆแห่งเพื่อความแน่นอนอีกครั้ง เพราะเข้าใจดีว่าการพาเด็กไปต่างประเทศโดยที่พ่อแม่เด็กไม่ได้เดินทางไปด้วย มันจะต้องมีเอกสารมากกว่าปกติอยู่แล้ว ไม่งั้นคงลักพาตัวเด็กหรือขายเด็กข้ามประเทศกันสนุกสนาน
เอกสารสำคัญที่ทั้งศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ 1111 และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ให้ไปทำก็คือ "หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศ" โดยให้พ่อและแม่เด็กไปขอที่เขต (กรณีอยู่ในกรุงเทพ) หรือที่ว่าการอำเภอ (กรณีอยู่ต่างจังหวัด)
ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ หลังจากพ่อแม่ของหลานเราไปทำพาสปอร์ตให้หลานเสร็จ วันเดียวกันก็ไปที่อำเภอต่อทันที หลังจากเล่าเรื่องให้อำเภอฟัง ทางอำเภอก็ออกหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศมา มีเจ้าหน้าที่รับรองถูกต้องเรียบร้อย
เนื้อหาของหนังสือยินยอมฯที่อำเภอออกให้ค่ะ เป็นแบบนี้เลย
![]() |
credit: search from google |
คราวนี้พอเราได้มาอ่านตัวหนังสือยินยอมฯแล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ข้อความมันกว้างมาก ไม่ได้มีการระบุเลยว่ายินยอมให้เดินทางไปประเทศอะไร เมื่อใด และที่สำคัญคือให้อยู่ในความดูแลของใคร
เราเลยโทรเช็คกับทางกรมการกงสุลอีกครั้ง ซึ่งทางกรมการกงสุลก็บอกว่าเนื้อหาดังกล่าวถูกต้องแล้ว เป็นฟอร์มของทางรัฐ และแนะนำให้เราแปลเอกสารนี้เป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเผื่อ ตม. ประเทศปลายทางจะขอดู
ตอนแรกเราก็เลยตั้งใจจะแปลเป็นภาษาอังกฤษและให้ทางกรมการกงสุลรับรอง แต่เนื่องจากขั้นตอนในการขอรับรองเอกสารของกรมการกงสุลนั้นค่อนข้างยากลำบาก(มาก) เพราะเราไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ครั้นจะขอข้อมูลเกี่ยวกับการให้รับรองทางไปรษณีย์เพิ่มเติมก็ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เลย
ที่สุด เราเลยตัดสินใจโทรไปที่สถานทูตญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศปลายทางในครั้งนี้ว่า ทาง ตม. ขาเข้าประเทศญี่ปุ่นต้องดูเอกสารตัวนี้ด้วยหรือไม่
ทางเจ้าหน้าที่ของสถานทูตญี่ปุ่นได้ชี้แจงว่าจริงๆแล้ว ทางญี่ปุ่นไม่ได้มีข้อกำหนดในการเข้าประเทศว่าเด็กต้องเดินทางกับพ่อแม่หรือคนนามสกุลเดียวกันเท่านั้น และไม่ได้ต้องการเอกสารอะไรเพิ่มเป็นพิเศษ แต่จะดูจากพฤติกรรมมากกว่า ข้อสำคัญคือขอให้สามารถอธิบายหรือตอบคำถามได้ในกรณีที่มีการสอบถามเพิ่มเติมก็พอ
เราเลยตัดสินใจตัดปัญหา ไม่ได้แปลตัวหนังสือยินยอมฯเป็นภาษาอังกฤษค่ะ
อีกหน่วยงานของรัฐที่เราได้โทรไปเช็คก็คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ค่ะ เพราะหน้าด่านขาออก เจ้าหน้าที่ที่เราต้องเจอด้วยจริงๆ คือคนนี้
แต่พอโทรไปที่เบอร์กลาง เบอร์กลางได้ให้เบอร์มาอีกเบอร์หนึ่งให้เราสอบถาม แต่พอเราโทรไปตามเบอร์ที่ได้มา ปรากฏว่าไม่มีคนรับสายเลย รอสายอยู่นานมากๆ ที่สุดเลยวางสาย ไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่
และที่สุดท้ายที่เราได้โทรไปเช็คคือ สายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินที่เราจะใช้บริการในครั้งนี้ เนื่องจากอ่านเจอว่าบางคนมีปัญหาตั้งแต่ตอนเช็คอินกับสายการบิน
ทาง call center ของแอร์เอเชีย ได้อธิบายกับเราว่ากรณีเด็กอายุไม่ถึง 12 ปีจะต้องเดินทางกับผู้ใหญ่ใน booking เดียวกัน ...ซึ่งตรงนี้ ไม่มีปัญหาค่ะ ที่จองไว้เป็น booking เดียวกันอยู่แล้ว
เราได้ถามกับทาง call center ว่าตอนนี้เรามีพาสปอร์ตของเด็กและหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศที่ออกโดยอำเภอเรียบร้อย แต่หนังสือยินยอมฯนี้ ไม่ได้มีข้อความว่าให้ไปที่ไหน เมื่อไหร่ กับใคร อันนี้คือใช้ได้แล้วใช่มั้ย หรือต้องเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มหรือไม่
ถึงตรงนี้ call center บอกให้เรารอสายแล้วหายไปพักหนึ่งค่ะ
พอกลับมาพนักงานได้แจ้งให้เราเตรียมเอกสารเพิ่ม คือ สำเนาบัตรประชาชนของพ่อและแม่เด็ก และให้พ่อและแม่เด็กเขียนข้อความรับรองว่ายินยอมให้เด็กอยู่ในการดูแลของใคร เดินทางไปประเทศใด ระหว่างวันที่เท่าไหร่ พร้อมทั้งเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
เราก็เลยได้เตรียมเอกสารเพิ่มตามที่ call center บอก (ซึ่งนี่เป็นเอกสารที่ช่วยชีวิตเราไว้ค่ะ)
พร้อมเตรียมสำเนาสูติบัตรและใบเปลี่ยนชื่อพิ่มด้วย เพื่อเป็นเอกสารยืนยันว่าบุคคลตามสำเนาบัตรประชาชนนั้นเป็นพ่อแม่ของเด็กจริง (ที่ต้องมีใบเปลี่ยนชื่อด้วย เนื่องจากแม่เด็กมีการเปลี่ยนชื่อครั้งนึง ทำให้ชื่อในสูติบัตรไม่ตรงกับสำเนาบัตรประชาชนปัจจุบันค่ะ)
รวมทั้งบอกให้พ่อแม่เด็กเตรียมรับโทรศัพท์ในวันเดินทางด้วย เพราะอ่านเจอหลายเคสที่ ตม. ขอให้โทรหาพ่อแม่เด็ก
==================
วันเดินทาง
ที่เคาน์เตอร์แอร์เอเชีย ตรวจดูเฉพาะพาสปอร์ตอย่างเดียว ไม่ได้มีการขอดูเอกสารใดๆเพิ่มเติมเลยค่ะ ตรงนี้ผ่านได้สบาย ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ
จะมีปัญหาก็ที่ ตม. นี่แหละ
ที่ ตม. เราได้ยื่นเอกสารคือพาสปอร์ตของหลานกับหนังสือยินยอมฯที่เตรียมมาให้เจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่อ่านแค่แวบเดียวแล้วส่งหนังสือยินยอมฯคืนให้เราค่ะ บอกว่าเป็นหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับทาง ตม.
ถึงตรงนี้ งงเลยค่ะ
ถามมา (น่าจะ) ทุกหน่วยงานบอกให้ใช้หนังสือตัวนี้ (ยกเว้นไม่ได้ถาม ตม. เพราะติดต่อไม่ได้นี่แหละ)
แต่เนื่องจากเรามีเอกสารเพิ่มเติมที่เตรียมไว้ให้แอร์เอเชียอยู่ เราเลยส่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งปึกเลย
หลังจากเจ้าหน้าที่ได้อ่านแล้ว (นานมากกกกกก) ก็มีสัมภาษณ์อีกนิดหน่อยว่าคนที่สำเนาบัตรประชาชนพ่อแม่เด็กระบุให้เป็นคนดูแลเด็กเป็นอะไรกับเด็ก และให้ถ่ายรูปพร้อมกับเด็กด้วย
สุดท้ายก็ปั๊มยอมให้หลานเราผ่านไปได้ค่ะ
โดยก่อนผ่านไป เจ้าหน้าที่ได้บอกด้วยว่าดีนะที่เตรียมเอกสารนี้มา ถ้าไม่มี ไม่ให้ผ่านแล้ว
(T^T) ฮือๆ โชคดีจริงๆค่ะ
นี่ขนาดเราว่าเราเตรียมตัวมาดีแล้ว โทรเช็คกับหน่วยงานหลายแห่งแล้วนะคะ หลานยังเกือบไม่ได้เที่ยวเลย
เรื่องนี้ได้ข้อสรุปว่า ถ้าต้องพาหลานไปต่างประเทศอีกเตรียมไปเถอะค่ะ เอกสารมีอะไรเตรียมไปให้หมด คนอื่นอาจไม่ต้องใช้ แต่เราอาจต้องใช้ค่ะ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ล้วนๆเลย
อันนี้ ไม่ได้ตำหนิเจ้าหน้าที่หรืออะไรนะคะ เพราะส่วนตัวเราก็คิดว่าตัวหนังสือยินยอมฯที่อำเภอออกมาให้เนื้อหามันกว้างไปจริงๆ ดีที่เราเอะใจและแอร์เอเชียก็แนะนำให้เตรียมเพิ่ม ไม่งั้นคงยุ่งกว่านี้ (แค่นี้ก็สงสารคนที่ต่อแถว ตม. แถวเดียวกับเราแล้วค่ะ เพราะใช้เวลานานจริงๆ T^T) เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังค่ะ
==================
ส่วนที่ ตม. ขาเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้น ไม่ถามอะไรเลยค่ะ ปั๊มผ่านมาเฉยๆเลยค่ะ
==================
**เพิ่มเติม หลังจากได้อ่านความเห็นของหลายๆท่านใน pantip เราพอจะสรุปได้ว่า เป็นอย่างที่คิดค่ะ ปัญหาคือข้อความของหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์ไปต่างประเทศที่ทางอำเภอออกให้ เพราะหลายๆท่านที่เคยทำหนังสือตัวนี้แล้วออกจากสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ จะมีข้อความเพิ่มเติมตอนท้ายว่าให้เด็กอยู่ในความดูแลของใคร ซึ่งคิดว่านี่คือประเด็นสำคัญที่ ตม. จะดู
ตัวอย่าง >> https://pantip.com/topic/37593518/comment21
ดังนั้น เวลาไปขอหนังสือยินยอมฯ ควรต้องขอให้ทางอำเภอ/สำนักงานเขต เพิ่มเติมข้อความประมาณนี้เข้าไปด้วยค่ะ
สอบถามค่ะ เราต้องทำเอกสารสำหรับเด็กก่อนเดินทางกี่วันคะ สามารถทำล่วงหน้าได้ระยะเวลาเท่าไหร่หรอคะ เอกสารมีระยะเวลาการใช้มั้ยคะ คือเราจะพาหลานไปเที่ยว กลัวทำล่วงหน้าไว้เป็นเดือน แล้วมันหมดอายุหรือใช้ไม่ได้นะคะ
ตอบลบ