10 ตุลาคม 2557

ไปญี่ปุ่นเตรียมตัวยังไงดี

UPDATE 2018!!! จขบ. กำลังทยอยรีไรท์และเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวเที่ยวญี่ปุ่นที่อยู่ใน blog นี้ใหม่อยู่นะคะ โดยสามารถอ่านฉบับอัพเดทได้จาก link ในหัวข้อ STARTER ไปญี่ปุ่น เตรียมตัวยังไงดี ทางคอลัมน์ขวามือของบทความนี้เลยค่ะ >>>>>


เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้มีโอกาสไปญี่ปุ่นแบบกะทันหันด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก (Backpack ที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก แต่เป็นการไปญี่ปุ่นรอบที่ 3 ของตัวเราเอง)
หลังจากกลับมา คิดเลยว่า "ต้องมีครั้งต่อไป"
คราวนี้เลยมาทำบันทึกไว้ดีกว่าว่าไปญี่ปุ่นจะเตรียมตัวยังไงดี ไปครั้งหน้าจะได้สบายขึ้น และเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย

เริ่มเลยจ้าาาา

> Passport/Visa/Immigration
> ตั๋วเครื่องบิน
> พยากรณ์อากาศ และ การแต่งกาย
> การแลกเงิน และ บัตรเครดิต
> Internet
> ประกันภันการเดินทาง
> การรับมือแผ่นดินไหว
> การวางแผนการท่องเที่ยว
> การเดินทาง
> ที่พัก
> ร้านอาหาร
> ค่าใช้จ่าย
> Shopping



Passport
ไปต่างประเทศ ต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) ก่อนนะคะ
ใครยังไม่มี ไปทำก่อนเลยจ้าาาา 

**เพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2558 เป็นต้นมา กรมการกงสุลได้มีการเปิดให้ทำพาสปอร์ตแบบเร่งด่วน สามารถรับเล่มได้ภายในวันทำการเดียว รายละเอียด click 
ยิ่งด่วนเท่าไหร่ ค่าธรรมเนียมก็ยิ่งแพงขึ้นเท่านั้นนะคะ ทางที่ดี เตรียมตัวแต่เนิ่นๆดีกว่าเนอะ

Visa

ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้ประกาศยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นให้กับคนไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพำนักระยะสั้นในประเทศญี่ปุ่น โดยให้พำนักได้ไม่เกิน 15 วัน

คำว่า “พำนักระยะสั้น” หมายถึง เพื่อการท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ เข้าประชุม สัมมนา หรือติดต่องานรวมถึงกิจกรรมระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่การดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ และกิจกรรมที่มีค่าตอบแทน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะไปญี่ปุ่นเกิน 15 วัน ต่อให้ไปเที่ยวก็ต้องขอ visa หรือถ้าไปเพื่อทำงานที่มีค่าตอบแทนหรือมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ต่อให้ไปไม่ถึง 15 วันก็จะต้องขอ visa ตามปกตินะคะ 

คราวนี้ปัญหาต่อมาที่พบกันเยอะ คือ อยู่ได้ไม่เกิน 15 วัน - - - 15 วันนับยังไง ?
วิธีการนับวัน 15 วัน

วันที่เดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น + 15 วัน = วันที่อนุมัติให้อยู่ในประเทศญี่ปุ่นวันสุดท้าย 

พูดง่ายๆ คือ 15 วัน ไม่นับวันแรกค่ะ

ตัวอย่าง : เดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นวันที่ 1
วันที่ 1 + 15 วัน = วันที่ 16 
(นับวันที่ 2 เป็น 1, วันที่ 3 เป็น 2 ... วันที่ 16 เป็น 15)
ดังนั้น วันที่อนุมัติให้อยู่ญี่ปุ่นวันสุดท้าย คือ วันที่ 16 จนถึงเวลา 23.59 น.

Immigration

สำหรับคนที่ไปเที่ยวและอยู่ไม่เกิน 15 วัน ไม่ต้องทำ visa มี Passport เล่มเดียวก็ไปได้เลย
แต่สำหรับขั้นตอนการเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ ต.ม. ของญี่ปุ่นอาจจะขอตรวจเอกสารบางอย่างดูเพื่อยืนยันว่าเราไปเที่ยวจริงๆ

เอกสารที่ควรจะเตรียมไป ได้แก่ ตั๋วเครื่องบินขาออกจากประเทศญี่ปุ่น (รวมถึงตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ e-ticket) สิ่งที่ยืนยันว่าเราสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการพำนักในประเทศญี่ปุ่น (เช่น เงินสด บัตรเครดิต เป็นต้น) ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ระหว่างที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น (เช่น คนรู้จัก โรงแรม และอื่นๆ)

ตาม link เลยนะคะ ติวเตอร์ตู่ทำไว้ละเอียดแล้ว
update!!! มีการเปลี่ยนฟอร์มเข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2016 ค่ะ
>>> การกรอกฟอร์มเข้าเมืองและศุลกากร (ฉบับอัพเดท)
โดยปกติฟอร์มเข้าเมืองและศุลกากร เหล่าบรรดานางฟ้าแอร์โฮสเตสทั้งหลายจะแจกให้เราตอนอยู่บนเครื่องบินค่ะ รับมาแล้ว เขียนเลยก็ดีนะคะ จะได้ไม่ต้องไปฉุกละหุกตอนจะเข้า ต.ม

ข้อควรระวัง! 
การเดินทางไปต่างประเทศ อายุ Passport ควรเหลืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน (กฎ Six Months Validity Rule)
จริงๆ แล้ว อายุ Passport จะต้องเหลืออยู่อย่างน้อยเท่าไหร่จะเป็นไปตามที่ประเทศนั้นๆ กำหนด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหลืออย่างน้อย 6 เดือนก็ได้ แต่ที่บอกให้เหลืออย่างน้อย 6 เดือน เป็นอะไรที่ play safe สุดค่ะ ถ้าไปกับทัวร์ ทัวร์จะขอให้ Passport ต้องมีอายุเหลืออย่างน้อย 6 เดือน
สำหรับประเทศญี่ปุ่น ที่เราหาเจอคือ Passport ต้องไม่หมดอายุ (อ้างอิงตามกระทู้  << ข้อมูลการถือ Passport ไทยไปประเทศต่างๆครับ (Asia) >>)
เท่าที่เคยอ่านเจอ มีคนที่ Passport เหลือไม่ถึง 6 เดือนไปญี่ปุ่นบ้างอยู่เหมือนกันค่ะ ซึ่งบางรายก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่มีปัญหาค่ะ โดยมักจะมีปัญหาที่ ต.ม.ไทย หรืออีกกรณีหนึ่งคือกรณีไปต่อเครื่องที่ประเทศอื่นก่อน ซึ่งประเทศนั้นใช้กฎ 6 เดือน ทำให้ไม่สามารถขึ้นเครื่องต่อไปญี่ปุ่นได้
ดังนั้น เหลืออย่างน้อย 6 เดือนเป็นอะไรที่เซฟสุดค่ะ

<< Tips >>
ทำสำเนาพวกเอกสารสำคัญ เช่น Passport บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ไว้ติดตัว และ/หรือ สแกนเป็นไฟล์เข้าไปใน e-mail / online drive (เช่น google drive, one drive, dropbox) ของเราไว้ด้วย เผื่อกรณีฉุกเฉิน 
รวมถึงควรหาที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือวิธีการติดต่ออื่นๆ ของสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในประเทศ/เมืองที่เราจะไปเก็บเอาไว้


ตั๋วเครื่องบิน

คราวนี้ มาเรื่องตั๋วเครื่องบิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ทริปเราจะถูกหรือแพง ใช้เงินมากน้อย บางทีมันขึ้นอยู่กับค่าตั๋วเครื่องบินนี่แหละค่ะ
ปัจจัยในการเลือกสายการบินของแต่ละคนมีเยอะแยะมากมายแตกต่างกันไป เช่น Full service/Low cost, บินตรง/ต่อเครื่อง, สนามบิน(เมือง)ที่ต้องการไป, ราคาตั๋วเครื่องบิน/Promotion ต่างๆ

สำหรับเรา ส่วนตัวเราไม่นิยมสายการบินที่ต้องต่อเครื่องค่ะ เหตุผลหลักคือขี้เกียจ และไม่อยากเสียเวลาเดินทางเยอะ เพราะจะทำให้เหนื่อย อยากเก็บแรงไว้ไปเที่ยวเต็มๆ มากกว่า และอีกอย่างคือคนใกล้ตัวเคยมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีเกี่ยวกกับกระเป๋าเดินทางในเที่ยวบินที่ต้องต่อเครื่องค่ะ
เพราะอย่างนั้น ระหว่างสายการบิน Full service ที่ต้องต่อเครื่อง กับ Low cost ที่บินตรง ถ้าราคาพอๆ กัน เราจะเลือกบินตรงกับ Low cost ในขณะที่บางคนอาจจะเลือกบิน Full service 
    สายการบินที่บินตรงไปญี่ปุ่น (เท่าที่นึกออก)
    TG
    JAL
    ANA
    Delta (Tokyo-Narita)
    Jet star (Fukuoka)
    Thai AirAsia X (Tokyo-Narita // Osaka)
    Nok Scoot (Osaka)

    Charter fight

    ข้อควรรู้
    เวลาใน Boarding pass เป็น Local time นะคะ
    เพราะฉะนั้นอย่างงถ้าเอา Departure time + เวลาที่ใช้ในการเดินทาง แล้วมันไม่เท่ากับ Arrival time ไม่ต้องแปลกใจ
    เช่น ไฟล์ท BKK 09:45 -> HND 17:55 (6h 10m)
    09:45 คือเวลาตามประเทศไทย + เวลาเดินทางไปอีก 6 ชั่วโมง 10 นาที = 15:55 (เวลาประเทศไทย) แต่ญี่ปุ่นเวลาเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง ดังนั้นจึงเป็น 17:55

    ข้อควรระวัง
    ถ้าขึ้นเครื่องตอนกลางคืน ดูเวลาดีๆ นะคะ คนพลาดกันมาเยอะแล้ว
    ตัวอย่าง :
    (1) เวลาขึ้นเครื่อง 00:20 วันที่ 1 มิถุนายน 2557 
    (2) เวลาขึ้นเครื่อง 23:40 วันที่ 1 มิถุนายน 2557

    กรณีที่ (1) เวลาขึ้นเครื่อง 00:20 วันที่ 1 มิถุนายน 2557 = เราต้องไปขึ้นเครื่องตอนคืนวันที่ 31 พฤษภาคม ถ้าไปวันที่ 1 ล่ะก็ตกเครื่อง!!!
    แต่กรณีที่ (2) เวลาขึ้นเครื่อง 23:40 วันที่ 1 มิถุนายน 2557 = เราต้องไปขึ้นเครื่องตอนคืนวันที่ 1 มิถุนายน (เช้าวันที่ 2 มิถุนายน)
    และสำหรับคนที่ไม่ชินกับการขึ้นเครื่องบิน ควรไปถึงสนามบินก่อนเวลาเดินทางอย่างน้อย 2 ชม. นะคะ

    สัมภาระ

    มาต่อด้วยเรื่องสัมภาระที่จะขึ้นเครื่องเลยนะคะ 
    เรื่องสัมภาระเนี่ยจะขึ้นอยู่กับแต่ละสายการบิน โปรดเช็คนโยบายว่าด้วยสัมภาระของแต่ละสายการบินอีกครั้งหนึ่ง แต่โดยทั่วๆ จะเป็นประมาณนี้นะคะ

    สัมภาระที่จะนำติดตัวขึ้นเครื่องบิน (Carry on)
    โดยทั่วไป คือ กระเป๋าถือ 1 ใบ + กระเป๋า 1 ใบ

    1. ขนาดของกระเป๋าจะต้องไม่เกิน 56x36x23 cm. หรือ 22x14x9 นิ้ว (รวมล้อและหูจับกระเป๋าด้วย) - - - เพราะฉะนั้น กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถนำขึ้นเครื่องได้น่าจะคือกระเป๋าขนาด 20”
    ข้อควรรู้ : การวัดขนาดกระเป๋า วัดด้านที่ยาวที่สุดของกระเป๋า (หลงวัดตามแนวทะเเยงแบบทีวีอยู่ตั้งนาน 555+)

    2. น้ำหนักกระเป๋าไม่เกิน 7 kg.
    cr. : AirAsia
    3. สิ่งของที่ห้ามนำขึ้นเครื่อง ได้แก่ อาวุธ ของมีคม (เช่น มีดพับ กรรไกรตัดเล็บ) วัตถุไวไฟ  และพวกของเหลว/เจล/สเปรย์
      ของเหลว/เจล/สเปรย์ที่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ ต้องอยู่ในภาชนะที่มีความจุไม่เกิน 100 ml. ต่อชิ้น (ดูที่ภาชนะนะจ้ะ ไม่ได้ดูที่ปริมาณที่มีอยู่ในขวด) และรวมทั้งหมดทุกชิ้นไม่เกิน 1,000 ml. + ใส่รวมไว้ในถุงพลาสติกใสที่มีความจุไม่เกิน 1 ลิตร (ประมาณ 20x20 cm.) และสามาถปิดผนึกได้
        cr. : AirAsia

        4. Power bank ไม่ว่าความจุเท่าไหร่ ห้ามโหลดใต้เครื่องเด็ดขาด แต่สำหรับความจุที่ใช้กันทั่วไป สามารถเอาขึ้นเครื่องได้ (carry-on)

        แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่ตัว Power bank จะต้องมีขนาดความจุระบุไว้ด้วยนะคะ ในกรณีที่ไม่มีความจุระบุไว้ เจ้าหน้าที่อาจไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้


        cr. : Thai Airways

        สัมภาระที่จะโหลดใต้เครื่อง
        ดูตามกฎ/นโยบายของแต่ละสายการบิน
        แต่ที่ต้องระวัง คือ น้ำหนัก กับ จำนวนชิ้นของสัมภาระ
        เช่น บางสายการบินอาจกำหนดน้ำหนักไม่เกิน X kg. แต่ไม่กำหนดจำนวนชิ้น (จำนวนกี่ชิ้นก็ได้) แต่บางสายการบินอาจกำหนดให้โหลดได้ X ชิ้น น้ำหนักชิ้นละไม่เกิน Y kg. เป็นต้น

        แถมเรื่องของ Boarding pass นิดนึงค่ะ 
        พอดีเจอของการบินไทยทำไว้ดีเลย เอามาแปะไว้ด้วย



        การเลือกที่นั่ง

        เลือกตามความชอบ เช่น ที่นั่งติดทางเดิน ติดริมหน้าต่าง เห็นปีกเครื่องบิน ไม่เห็นปีเครื่องบิน อะไรก็ว่าไปเลยค่ะ
        แต่ถ้าไป Tokyo โอกาสที่จะได้เห็นฟูจิซัง ขาไป BKK-Tokyo ให้นั่งฝั่งซ้ายติดริมหน้าต่าง และขากลับ Tokyo-BKK ให้นั่งฝั่งขวาติดริมหน้าต่าง
        Website ที่อยากจะแนะนำ คือ http://www.seatguru.com/

        << Tips >> 
        บัตรเครดิตบางชนิด ถ้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อตั๋วเครื่องบิน บางบัตรจะมีประกันภัยการเดินทางหรือประกันอุบัติเหตุให้ สามาถเช็คได้กับธนาคารผู้ออกบัตรเครดิต
        สำหรับ SCB Platinum ถ้าใช้ในการซื้อตั๋วเครื่องบิน จะให้เฉพาะประกันอุบัติเหตุขณะที่โดยสารอยู่บนยานพาหนะที่ใช้บัตรเครดิตซื้อ (ในที่นี้ คือ เครื่องบิน) แก่เจ้าของบัตร $25,000 (ไม่ค่อยมีประโยชน์เลยเนอะ ถ้าเครื่องบินไม่ได้ตก)



        พยากรณ์อากาศ 

        พยากรณ์อากาศที่ญี่ปุ่นเป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก ะ
        ก่อนไปแนะนำให้เช็คก่อน จะได้จัดกระเป๋าถูก

        แล้วพอไปถึงที่โน่น ให้เช็ควันต่อวันอีกที (เช็ควันต่อวันเป็นอะไรที่แม่นมากกกก บอกว่าฝนจะตกสิบโมง มันก็ตกสิบโมงจริงๆ - - - เราเช็คจาก iPhone ค่ะ)

        อีกอย่างที่แนะนำให้เช็คด้วยเพื่อจะได้วางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น คือ เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและตก
        เช่น ในฤดูหนาว ปกติพระอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว ทำให้มีเวลากลางวันค่อนข้างสั้นกว่าฤดูอื่นๆ พูดง่ายๆ คือมันจะมืดเร็ว แล้วเวลาถ่ายรูปตอนแสงน้อย มันจะไม่สวยเอาเนอะ
        http://www.timeanddate.com/worldclock/sunrise.html


        การแต่งกาย

        แน่นอนว่าเรื่องการแต่งกายควรจะสัมพันธ์กับอากาศนะคะ ไม่ใช่ไปช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ต้นฤดูร้อน แล้วใส่โค้ทมิชลินสำหรับหน้าหนาวไป (นึกออกมั้ยคะ โค้ทที่เป็นปล้องๆ เหมือนน้องยางรถมิชลินน่ะค่ะ เป็นพวกโค้ทขนเป็ดอ่ะค่ะ) มันจะแปลกมากเลยค่ะ (อันนี้ เราเคยเจอจริงๆ อากาศประมาณ 14-16 องศา แต่แดดจัดมาก เราใส่เบลเซอร์ธรรมดายังต้องถอดเลย แต่มีนักท่องเที่ยวบางคนใส่โค้ทมิชลินไป)

        คราวนี้มาดู Guidelines เรื่องการแต่งตัว แนะนำ Blog ของคุณ White Amulet บอกไว้ค่อนข้างละเอียดมาก
        ปกติ เราจะดูคู่กับเว็บ Street fashion ของญี่ปุ่นที่คุณ White Amulet แนะนำไว้ อีกเว็บนึง คือ http://www.style-arena.jp/



        การแลกเงิน

        เรื่องการเช็คอัตราแลกเปลี่ยน ภูมิใจนำเสนอเว็บ http://www.bahtcheck.com/ ของคุณ Bookman
        แต่ยังไงควรเช็คกับเว็บผู้ให้บริการโดยตรงอีกครั้งนะคะเพื่อความชัวร์

        เอกสารที่ใช้ในการแลกเงินบาท เป็น เงินต่างประเทศ >>> Passport 
        แต่ถ้าแลกเงินต่างประเทศ เป็น เงินบาท เข้าใจว่าใช้บัตรประชาชนก็พอค่ะ

        ปกติร้านรับแลกเงินเรทมักจะดีกว่าธนาคารนะคะ

        แต่เราก็เคยเจอบางช่วงเหมือนกันที่เรทธนาคารดีกว่า เช่น ตอนช่วงปี 2013 มีช่วงนึง เรทธนาคาร UOB ดีกว่าที่ Superrich อีกค่ะ

        สำหรับตัวเราเอง หลักๆ เราแลกอยู่ 2 ที่ คือ Superrich สีเขียวตรงข้าม CTW กับ ธนิยะสปิริต ตรงสีลม 
        แต่นอกจากนี้ยังทีร้านรับแลกเงินอีกหลายแห่งเลยนะคะ ยิ่งถ้าแลกไม่มาก สะดวกที่ไหน ไปตรงนั้นก็ได้ค่ะ ไม่งั้นดีไม่ดี คำนวณรวมค่าเดินทางเข้าไปแล้วอาจจะพอๆกัน

        อีกเรื่องคือ บางคนจะงงว่าสรุปแล้วเราต้องดูเรทช่องไหน เพราะมันจะมี Buying (ราคาซื้อ) กับ Selling (ราคาขาย)
        ง่ายๆ เลยนะคะ ยึดร้านเป็นหลักค่ะ 
        Buying คือ เรทราคาเงินตราต่างประเทศที่ร้านรับซื้อ 
        Selling คือ เรทราคาเงินตราต่างประเทศที่ร้านขาย

        ในแง่ของเราซึ่งเป็นคนเอาเงินไปแลก 
        ถ้าเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงินเยน = เราเอาเงินบาทไปซื้อเงินเยน = ร้านขายเงินเยนให้เรา = ดูช่อง Selling ค่ะ (ช่องที่เรทจะแพงกว่าอีกช่อง)
        กลับกัน ถ้าเอาเงินเยนไปแลกคืนเป็นเงินบาท = เราเอาเงินเยนไปขาย = ร้านรับซื้อเงินเยน = ดูช่อง Buying ค่ะ (เรทจะถูกกว่าค่ะ)

        บัตรเครดิต

        ส่วนใหญ่ บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารไทย นอกจากจะโดนอัตราแลกเปลี่ยนตามเรทธนาคาร (ซึ่งสูงกว่าร้านรับแลกเงินแล้ว) ยังมี ค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน ด้วย ซึ่งค่าความเสี่ยงฯ นี้จะแตกต่างไปในแต่ละธนาคาร
        โดยรวมคือ มักจะแพงกว่าแลกเงินไปเอง แต่สะดวกตรงที่ไม่ต้องพกเงินสดเยอะ

        ใครว่าไปญี่ปุ่นของไม่หาย?
        ทริปล่าสุด เพื่อนเรา(เหมือนจะ)โดนล้วงกระเป๋าตอนไปเทศกาลดูดอก Shibazakura ที่ Kawaguchiko ค่ะ (นางมั่นใจว่าโดนล้วง ไม่ได้ตกหายเอง) ขนาดแยกเงินไว้หลายๆ ที่แล้ว ยังโดนไปเกือบ 20,000 บาทไทย แจ้งหายไว้ทั้งที่เจ้าหน้าที่ที่งาน และ ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจด้วย (อันนี้ สนุกมาก ประทับใจคุณตำรวจญี่ปุ่นผุดๆ เดี๋ยวมีโอกาสจะมาเล่าให้ฟัง) .....สุดท้าย ไม่ได้คืนนะคะ ต้องฟาดเคราะห์ไป เป็นข้อเสียร้ายแรงของการพกเงินสด หายที หายเยอะ ทำอะไรไม่ถูกเลย

        ปกติ เวลาเราไปต่างประเทศ เราจะโทรแจ้งกับ Call centre นะคะ ว่าอาจมีการใช้งานบัตรเครดิตที่ประเทศนี้ๆๆ วันที่นี้ๆๆ ถึงนี้ๆๆ อะไรก็ว่าไป (ซึ่งจริงๆ ไม่รู้ว่าจำเป็นต้องโทรรึเปล่า แต่ก็โทรมาตลอด ฮาาา)

        << Tips >>
        เวลาเก็บเงินสดควรแยกเงินไว้หลายๆที่นะคะ เผื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน กระเป๋าเงินหาย โดนล้วงกระเป๋า จะได้ยังพอมีเงินสำรองอยู่

        Internet

        Data Roaming 
        รายละเอียดดูตาม website ของแต่ละ operators

        Pocket Wifi
        ตอนนี้ นักท่องเที่ยวไทยกำลังนิยมกันมาก ยิ่งถ้าไป backpack กันเป็นกลุ่มๆ ยิ่งคุ้ม
        มีหลายเจ้ามาก แต่ละเจ้าก็เงื่อนไขและราคาต่างกันไปค่ะ
        ตัวอย่าง

        สำหรับ ตอนที่เราไป เราใช้บริการของ bs-mobile เหตุผลเพราะคำนวณตามจำนวนวันที่เราจะไปแล้ว ที่นี่ถูกที่สุด และสามารถรับและคืนเครื่องที่สุวรรณภูมิได้เลย
        เท่าที่ใช้มา 12 วัน สัญญาณดีมากค่ะ เราไม่มีปัญหาอะไรเลย (ตอนแรกก็หวั่นใจอยู่ เพราะไปดูใน facebook มีบางคนคอมเพลนว่าใช้ไม่ได้อยู่เหมือนกัน)
        เสียตรงที่แบตหมดค่อนข้างเร็ว แต่เรามี Power Bank เลยไม่มีปัญหาค่ะ

        **เพิ่มเติม ครั้งล่าสุดที่ไปญี่ปุ่น ปี 2015 เราก็ยังคงใช้บริการของ bs-mobile นะคะ ไม่มีปัญหาอะไร และที่สำคัญคือใครมีบัตรสมาชิก King Power สามารถลดราคาได้ 20% นะคะ (เป็นโปรโมชั่นของบัตร King Power ค่ะ ถ้าใครสนใจ ลองเช็คดูอีกทีนะคะ เราไม่แน่ใจว่ามันเป็นโปรฯ ถาวรของบัตรหรือเป็นแค่โปรฯเฉพาะช่วง)

        Free wi-fi
        5 วิธีหา Free Wi-Fi ใช้ในโตเกียว http://www.charathbank.com/2014/03/free-wifi-tokyo/

        แก้ไขเพิ่มเติม ปัจจุบันค่ายโทรศัพท์มือถือเริ่มมาทำ sim สำหรับนำไปใช้ในต่างประเทศกันหลายค่ายหลายแบบค่ะ อย่าง Sim2Fly ของ AIS ก็เป็นตัวเลือกที่ดีมาก เราเคยใช้ตอนไปฮ่องกง สะดวกมากๆค่ะ คิดว่าครั้งต่อไปถ้าไปญี่ปุ่นอีกก็คงจะลองใช้ซิมประเภทนี้ดูอีกค่ะ 



        ประกันภัยการเดินทาง

        ถ้าใครไปเที่ยวต่างประเทศหลายๆวัน แนะนำให้ทำนะคะ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรจะได้มีประกันรองรับ โดยเฉพาะหากเกิดอุบัตติเหตุอะไรในต่างประเทศซึ่งในบางประเทศค่าหมอแพงมากกกกก

        เราไม่มีเจ้าประจำนะคะ
        ต้องลองดูเงื่อนไขการประกันของหลายๆแห่งเทียบกับราคาค่ะ

        มีตัวอย่างการเลือกซื้อประกันภัยการเดินทางจากกระทู้นี้ค่ะ 



        การรับมือแผ่นดินไหว

        อันนี้แถมค่ะ ญี่ปุ่นแผ่นดินไหวบ่อย คนญี่ปุ่นเค้าจะรู้ว่าควรต้องทำยังไง แต่คนไทยอย่างเราๆ ใครจะไปรู้ ดังนั้น เตรียมตัวกันสักเล็กน้อย เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองค่ะ
        << คู่มือการรับมือแผ่นดินไหว >>




        ที่เหลือเดี๋ยวมาต่อกันอีก blog นะคะ ดูเหมือนมันจะเริ่มยาวไปแล้ว
        เเรื่องการวางแผนการเดินทาง ที่พัก บลาๆๆ รายละเอียดค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว...

        ไม่มีความคิดเห็น:

        แสดงความคิดเห็น